วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม


กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จ พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕ ความว่า
"... คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ มีอยู่สี่ประการ
ประการแรก คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติ
ปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และเป็นธรรม ประการที่สอง คือ การรู้จัก
ข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเอง ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วง
ความสัจสุจริต ไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวาง
ความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อ
ประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง คุณธรรมสี่ประการนี้ ถ้าแต่ละคน
พยายามปลูกฝังและบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้
ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุง
พัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์ ..."




พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการนี้ สอดคล้องกับหลักพุทธธรรมในเรื่อง ฆราวาสธรรม ๔ คือ
๑. สัจจะ มีความจริงใจต่อตนเองที่จะรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับตน
๒. ทมะ การรู้จักข่มใจตนเองที่จะปฏิบัติตามสัจจะที่กำหนด
๓. ขันติ มีความอดทนอดกลั้นที่จะปฏิบัติตามสัจจะนั้นให้สำเร็จลุล่วง
๔. จาคะ การสละความชั่วความทุจริตตามสัจจะนั้นๆ
มีหน่วยราชการหลายหน่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการ พลเรือน (กพ.) ได้นำพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการนี้ ไปเผยแพร่เพื่อเป็น แนวทางให้ประชาชนทั่วไป และข้าราชการยึดถือ เป็นหลักปฏิบัติ แต่เนื่องจากขาดกระบวนการฝึกฝน อบรม เพื่อให้เข้าใจหลักการวิเคราะห์ และการประพฤติปฏิบัติ ตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่อง คุณธรรม ๔ ประการดังกล่าว อย่างเป็นกระบวนธรรมที่ครบวงจร จึงไม่ประสบผลสำเร็จ ในการ เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของสังคมไทยมากนัก
อันที่จริงคุณธรรม ๔ ประการนี้ ไม่ใช่หลักการประพฤติปฏิบัติจริยธรรม ๔ เรื่องที่แยกเป็นอิสระจากกัน แต่เป็นชุดของกระบวนธรรมชุดหนึ่งที่ประกอบด้วยขั้นตอนของพัฒนาการ ๔ ขั้นตอน ซึ่งมีพลัง ที่จะนำ ไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับชีวิตปัจเจก-บุคคลและสังคมส่วนรวม
คล้ายคลึงกับกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) ที่ประกอบด้วยขั้นตอน สำคัญต่างๆ เช่น การสังเกตปรากฏการณ์ การตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์นั้นๆ การพิสูจน์สมมติฐาน ตามที่ตั้งไว้ การสรุปผลการพิสูจน์เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีทั่วไป เป็นต้น
กระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์นี้ ดูผิวเผินก็เหมือนไม่มีเนื้อหาอะไรมาก อธิบายแค่ ๕ นาที ก็รู้เรื่องหมดแล้ว แต่การจะปลูกฝังให้เข้าใจถึงแก่นสารแห่งกระบวนการดังกล่าว จนสามารถ นำไปใช้ให้เกิดผล ในทางปฏิบัติได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องแล้ว เครื่องมือ ทางปัญญานี้ ก็แสดงศักยภาพอันไพศาล ที่นำมนุษย์ไปสู่การค้นพบ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้ง ศาสตร์ (Sciences) แขนงต่างๆ ที่กลายเป็นพลัง ในการพลิกโฉม ของโลกให้พัฒนาเปลี่ยนแปลง จากในอดีต อย่างสิ้นเชิง
พระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการที่ดูเหมือนไม่มีเนื้อหาอะไรมากนั้น อันที่จริงได้แฝงไว้ด้วย คุณค่า ความสำคัญ ที่ยิ่งใหญ่ ดุจเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพราะคุณธรรม ๔ ประการนี้ เป็นกระบวนธรรมชุดหนึ่ง ที่มีพลังในการแก้ปัญหา ของมนุษย์ คล้ายคลึงกับกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ อันจะได้กล่าวถึงต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น